*
คำที่ได้ยินกันบ่อยมาก เวลาที่ฟังข่าวพยากรณ์อากาศคือ คำว่า ฟ้าหลัว หลายคนก็เข้าใจผิดไปว่ามันมาจากคำว่าฟ้าสลัวอันเกิดจากมีเมฆบัง มันไม่ใช่ครับ
โดยธรรมชาติแล้วเวลาเรามองออกไปไกลๆ เราควรจะมองออกไปได้ไกลมากๆเห็นสิ่งที่อยู่ไกลๆได้ชัดเจน แต่สิ่งที่ทำให้เรามองได้ไม่ไกลนั่นคือ การมีอะไรมาขวางทางของสายตาอยู่ ซึ่งสิ่งนั้นมักมีน้ำหนักเบากว่าอากาศคือ สามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้จนกลายมาเป็นสิ่งที่บดบังทัศนวิสัย ปกติแล้วเราก็จะรู้จักคำว่า “หมอก” ได้เป็นอย่างดี มันคือไอน้ำที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในฤดูหนาวในบ้านเราครับ
แต่คำว่า ฟ้าหลัว เราจะไม่ค่อยได้ยินในช่วงฤดูหนาว แล้วถ้างั้น ฟ้าหลัว คืออะไรกันแน่นะ
ฟ้าหลัวก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เรามองไปไกลๆไม่ได้ชัด เพราะมันมีอะไรแขวนลอยอยู่ในอากาศเหมือนกับที่หมอกคือไอนำ้แขวนลอยในอากาศแล้วเราก็มองได้ไม่ไกล แต่สำหรับฟ้าหลัวนั้นความไม่ชัดมันเกิดจาก ขี้ฝุ่นละอองต่างๆที่เคยอยู่ที่พื้น ลอยขึ้นไปแขวนในอากาศ ที่มันลอยขึ้นไปได้ก็เพราะว่า มันแห้งและมีน้ำหนักที่เบา
แล้วมันลอยขึ้นไปได้อย่างไร
มันลอยขึ้นไปเพราะว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อน (มักไม่เกิดในฤดูหนาว) อากาศที่ร้อนจะขยายตัวทำให้มันเบาขึ้นและยกตัวลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น การที่มันลอยยกตัวขึ้นมันก็ยกเอาขี้ฝุ่นขนาดเล็กที่แห้งและเบาลอยขึ้นไปด้วย เมื่อลอยแล้วมันก็ยังไม่ไปไหนมันก็แขวนลอยในอากาศอยู่อย่างนั้น ทำให้เรามองออกไปได้ไม่ไกล
ถ้าเราสังเกตุว่า ถ้าเรามองภูเขา หรือตึกสูงที่อยู่ไกลๆได้ไม่ชัดในยามบ่ายหรือเย็น (ที่ไม่มีหมอกแล้วแน่ๆ)นั่นก็คือ สภาวะฟ้าหลัวนั่นเองครับ
จากความเข้าใจนี้ ก็นำมาสู่ความเข้าใจว่า ทำไมในฤดูหนาวฟ้าจึงมักจะใส มองเห็นดาวชัดเจน ฟ้าเป็นสีคราม นั่นก็เพราะว่าเกิดปรากฎการณ์ตรงกันข้ามกับฟ้าหลัว คือ อากาศที่มีความเย็นมันจะมีความหนัก มันก็เลยกดตัวลงมาสู่ที่ผิวดิน ดังนั้นขี้ฝุ่นก็จึงไม่มีโอกาสลอยขึ้นมาแขวนลอยเกะกะสายตา ทำให้เรามองออกไปได้ไกลหรือมีทัศนวิสัยที่ดี หรือ ที่เรียกว่า ฟ้าใสนั่นเองครับ (คลิก อ่านเรื่อง สาเหตุที่ฟ้าใส เพิ่มเติม)